ส่วนประกอบในควันบุหรี่ สารพิษที่สำคัญในควันบุหรี่

เชื่อหรือไม่? ควันบุหรี่ที่พ่นออกมา หรือควันบุหรี่ที่สูดเข้าไปในปอดนั้น  มันมีสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด!!ที่สำคัญ ส่วนประกอบหลักในควันบุหรี่ คือสาร นิโคติน , ทาร์ , คอร์บอนมอนอกไซด์ ,บิวเทน ,แอมโมเนีย ,ไซยาไนด์ ,สารหนู และฟีนอล ส่วนใหญ่เป็นอยุภาคเล็กๆ หรือก๊าซ สารเคมีเหล่านี้ มากกว่า 50 ชนิด สามารถทำให้เกิดมะเร็งที่ปอด คอ ปาก กระเพาะปัสสาวะ และไต อวัยวะเหล่านี้ ล้วนเป็นทางผ่านของ สารเคมีในควันบุหรี่ ที่เข้าและออกจากร่างกาย

1.นิโคติน
นิโคติน เป็นสารที่อออกฤทธิ์แรง และเสพติดง่าย การเสพติดเกิดจากนิโคติน ไปมีผลต่อสมองส่วนกลางบ่อยครั้ง โดยระยะแรกนิโคตินจะส่งผลต่อสมองเป็นการกระตุ้น และต่อมาจะเป็นการกด ดังนั้น ผู้สูบบุหรี่จึงรู้สึกตื่นตัวในตอนแรก หลังจากนั้นสมองจะถูกกดตามมา

ในการสูบบุหรี่ นิโคตินจากควันบุหรี่ไปถึงสมอง ใช้เวลาเพียง 8 วินาที และในเวลาเพียง 20 วินาที นิโคตินก็จะมีผลไปถึงส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ผู้ที่ติดบุหรี่จึงต้องสูบไปเรื่อยๆ เพื่อให้ปริมาณนิโคตินในเลือดคงที่ เมื่อไรก็ตามที่นิโคตินในเลือดต่ำลง ก็จะรู้สึกอยากสูบบุหรี่ ซึ่งเห็นได้จากคนที่สูบสม่ำเสมอ จะเว้นชาวงห่างในการสูบ ประมาณ 20-45 นาที ขึ้นกับอัตราการสูบว่า มากหรือน้อย โดยปกตินิโคตินอยู่ในร่างกายประมาณ 24 ชั่วโมง แต่ในการปรับสมดุลของสารเคมีในร่างกาย ให้เป็นปกติ ต้องใช้เวลาเป็นวัน หรือเป็นสัปดาห์ การติดนิโคตินจะเริ่มเกิดหลังจากการสูบบุหรี่ เป็นประจำ นาน 2 ปีขึ้นไป

การสูดควันบุหรี่ไปแต่ละครั้ง (1 puff) สมองจะได้รับการกระตุ้นจากนิโคติน 1 ครั้ง บุหรี่ 1 มวน จะถูกสูดประมาณ 10 ครั้ง การสูบบุหรี่วันละซองตลอดปี จึงทำให้นิโคตินส่งผลต่อสมองถึง 70,000 ครั้ง

กลไกการออกฤทธิ์ของนิโคตินที่มีต่อร่างกาย คือ
ทำให้มีการหลั่ง อิพิเนฟฟริน (Epineprine) เข้าสู่กระแสเลือด เป็นการเพิ่มจังหวะการเจ้นของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และความดันเลือดสูงขึ้น
ทำให้หลอดเลือดหดตัว ซึ่งเป็นอันตรายมากในผู้ที่มีไขมันเกาะผนังเส้นเลือดอยู่แล้ว นอกจากนี้ นิโคตินเองยังมีส่วนทำให้ไขมันเกาะที่ผนังเส้นเลือดมากขึ้นด้วย

2.ทาร์
เป็นสารอันตรายที่สุดในบุหรี่ การติดบุหรี่เป็นผลของนิโคตินที่มีต่อสมอง แต่การตายของผู้สูบบุหรี่ ส่วนใหญ่เป็นผลจากทาร์ ทาร์ประกอบด้วยสารหลายชนิด มีลักษณะเป็นละอองของเหลว เป็นยางสีน้ำตาลเข้ม คล้ายน้ำมันดิน ส่วนใหญ่เป็นสารที่มีอันตราย เช่น เบนโซไพริน (Benzopyrene) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากเบนโซไพรินแล้ว ควันบุหรี่ที่ยังมีสารก่อมะเร็งชนิดอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 42 ชนิด ควันบุหรี่จึงเป็นแหล่งของสารก่อมะเร็ง ที่สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์

ในควันบุหรี่ ประกอบด้วยละอองอนุภาคเล็กๆ นับล้านหน่วยต่อลูกบาศ์กเซนติเมตร เมื่อควันบุหรี่เข้าสู่ปาก ละอองเหล่านี้จะเย็นลง จับตัวกันเกิดเป็นทาร์ติดอยู่ตามทางเดินหายใจ ที่เข้าสู่ปอด ร้อยละ 50 ของทาร์จะจับอยู่ที่ปอด ทำให้ขนเล็กๆ (Cilla) ทีอยู่ตามผิวเซลล์ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนปกติ เมื่อรวมตัวฝุ่นที่สูดหายใจเข้าไปแล้ว ก็จะขังอยู่ในถุงลมปอด ทำให้กระบวนการกำจัดของเสีย ออกจากปอดเสียไป และทำลายถุงลมเล็กๆ ในปอด เป็นการลดสมรรถภาพการทำงาน ของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ก่อให้เกิดการระคายเคือง อันเป็นสาเหตุของอาการไอ และทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด และถุงลมปอดโป่งพอง

3.คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide)
เป็นก๊าซไม่มีสี พบมากในควันบุหรี่ เกิดจากการเผาไหม้ของใบยา และกระดาษที่ใช้มวนบุหรี่ คาร์บอนมอนอกไซด์ จะจับตัวกับฮีโมโกลบินได้ดีกว่าออกซิเจน ถึง 200 เท่า การสูบบุหรี่จะเพิ่มจำนวน คาร์บอนมอนอกไซด์มากขึ้น ออกซิเจนจึงจับกับเม็ดเลือดน้อยลง ผู้สูบบุหรี่ได้รับออกซิเจนน้อยลงกว่าร้อยละ 10-15 สมอง กล้ามเนื้อ จึงไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ และเพื่เป็นการทดแทนที่ร่างกาย ได้รับออกซิเจนลดลง หัวใจ และปอดจึงต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ให้ได้รับออกซิเจนเพียงพอ ก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบไหลเวียนเลือด นอกจากนี้คาร์บอนมอนอกไซด์ ยังทำลายคุณสมบัติของผนังเส้นเลือด และเพิ่มความเสี่ยงต่อ การเกิดการอุดตันของเส้นเลือดหัวใจ ทำให้เกิดหัวใจวายตามมาได้

4.ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen Cyanide)
เป็นก๊าซพิษที่ใช้ในสงคราม ก่อให้เกิดการไอ มีเสมหะ และหลอดลมอักเสบเรื้อรัง

5.ไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nitrogen Dioxide)
เป็นสาเหตุของโรคถุงลมโป่งพอง เฃ่นเดียวกับทาร์ เพราะไปทำลายเยื่อบุหลอดลมส่วนปลาย และถุงลม

6.แอมโมเนีย (Ammonia)
มีฤทธิ์ระคายเคืองเนื้อเยื่อ ทำให้แสบตา แสบจมูก หลอดลมอักเสบ ไอ และมีเสมหะมาก

7.สารกัมมันตภาพรังสี (radioactive Substance) และแร่ธาตุต่างๆ
ในควันบุหรี่ จะมีสารโพโลเนียม -210 ที่มีรังสีแอลฟาอยู่ กัมมันตภาพรังสีของสารนี้ เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็ง ควันบุหรี่เป็นพาหะในการนำสารกัมมันตรังสี เข้าสู่ร่างกาย ทำให้ผู้ที่อยู่รอบข้าง แม้ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่หายใจเอาควันบุหรี่เข้าไป ก็จะได้รับสารนี้ด้วย

นอกจาหนี้ ในควันบุหรี่ยังมีแร่ธาตุบางอย่าง เช่น โปแตสเซียม โซเดียม แคลเซียม ทองแดง นิเกิล โครเมียม รวมทั้งสารดีดีที อันเป็นสารตกค้างในใบยาสูบ หลังจากการพ่นยาฆ่าแมลง ซึ่งก่อให้เกิดภาวะเป็นพิษต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนิเกิลทำปฏิกิริยา กับสารเคมีอื่น จะกลายเป็นสารพิษที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมอนามัย

Your Life, You Change
Message us